scien project
 1. ประเภทของโครงงานวิทยาศาสตร์

     2. ขั้นตอนการจัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

               2.1 การได้มาซึ่งปัญหา
               2.2 การศึกษาค้นคว้าจากเอกสาร
               2.3 การจัดทำเค้าโครง
               2.4 การลงมือทำโครงงาน
               2.5 การเขียนรายงาน
               2.6 การเสนอและการแสดงผลงาน

          กลับหน้าหลัก

 

รวบรวมเรียบเรียงโดย
ครูนันทนา สำเภา

 

ขั้นตอนการจัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ขั้นตอนที่ 3 การจัดทำเค้าโครงของโครงงานวิทยาศาสตร์

การจัดทำเค้าโครงของโครงงานวิทยาศาสตร์ โดยเค้าโครง โครงงานวิทยาศาสตร์ประกอบด้วย              

 

 1. ชื่อโครงงาน

 7.  ขอบเขตของการทำโครงงาน

 2. ชื่อผู้ทำโครงงาน

 8.  วิธีดำเนินงาน

 3. ชื่อที่ปรึกษาโครงงาน

 9.  แผนปฏิบัติงาน

 4. ที่มาและความสำคัญของโครงงาน

 10.  ผลที่คาดว่าจะได้รับ

 5. วัตถุประสงค์ของการศึกษาค้นคว้า

 11. เอกสารอ้างอิง

 6.  สมมติฐานของการศึกษาค้นคว้า (ถ้ามี)

 12.  นำเค้าโครงโครงงานเสนอต่อครูที่ปรึกษาโครงงาน

 

1. ชื่อโครงงาน   เทคนิค 3 อย่าง คือ     ตั้งชื่อเรื่องให้ตรงกับเรื่องที่ศึกษาโดยภายในชื่อต้องระบุตัวแปรต้นและตัวแปรตาม      
ตั้งชื่อเรื่องให้กะทัดรัด ได้ใจความชัดเจน รัดกุม หรืออาจเป็นชื่อเรื่องที่เร้าใจให้ผู้อื่นสนใจ
2. ชื่อผู้ทำโครงงาน การเขียนชื่อผู้รับผิดชอบโครงงานวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งดีเพื่อจะได้ทราบว่าโครงงานนั้นอยู่ในความ
รับผิดชอบของใคร และ สามารถติดตามได้ที่ใด
3. ชื่อที่ปรึกษาโครงงาน  การเขียนชื่อผู้ให้คำปรึกษาควรให้เกียรติยกย่องและเผยแพร่รวมทั้งขอบคุณที่ได้ให้คำแนะนำ
การทำโครงงานวิทยาศาสตร์จนบรรลุเป้าหมาย 
4. ที่มา และ ความสำคัญของโครงงาน บอกแนวคิดและที่มาของการทำโครงงานนี้ โดยการเขียนอธิบายถึงที่มาของการ
ทำโครงงานว่าเหตุใดจึงเลือกทำโครงงานนี้ มีเหตุจูงใจอะไรที่ทำให้สนใจการทำโครงงานนี้เป็นกรณีพิเศษ โครงงานนี้มี
ความสำคัญอย่างไร  (ดูตัวอย่างที่ 1)

                                                                                                           

ตัวอย่างที่ 1 ที่มาและความสำคัญของโครงงาน
(เรื่อง การศึกษาผลของน้ำมะพร้าวต่อการชะลอการเหี่ยวเฉาของดอกบานบุรี)

ที่มาและความสำคัญ

         มะพร้าว (Cocos nucifera Linn.)เป็นพืชที่พบได้ทั่วไปในทุกท้องถิ่นในประเทศไทย  ซึ่งเราสามารถนำมะพร้าวมาทำประโยชน์ได้จากทุกส่วน เช่น ผลอ่อนใช้รับประทานสด ทั้งน้ำและเนื้อ  เนื้อมะพร้าวจากผลแก่นำไปปรุงอาหารและขนมหลายชนิด และใช้สกัดน้ำมัน กากที่เหลือใช้เลี้ยงสัตว์ น้ำมันมะพร้าวใช้ประกอบอาหาร เนยเทียม และสบู่ เปลือกมะพร้าวนำไปแยกเอาเส้นใยใช้ทำเชือก วัสดุทำเบาะและที่นอน ขุยมะพร้าวใช้ทำวัสดุเพาะชำต้นไม้ กะลาใช้ทำภาชนะ ตักตวงของเหลว หรือ ทำกระดุม เครื่องประดับ เครื่องดนตรี เช่นซออู้ ทำเชื้อเพลิง และถ่านกัมมันต์ ใบมะพร้าวทั้งอ่อนและแก่ ตลอดจนก้านใบใช้มุงหลังคา เครื่องจักสาร ไม้กวาดทางมะพร้าว ใช้ทำรั้วและเชื้อเพลิง ลำต้นแก่ใช้ในการก่อสร้างประดิษฐ์เครื่องเรือน ยอดอ่อนใช้เป็นอาหาร จั่น หรือ ช่อดอก มีน้ำหวานรองมาดื่มเป็นน้ำผลไม้หรือทำน้ำตาล หมักทำเหล้าและน้ำส้น รากใช้ทำยา สีย้อมผ้า และเชื้อเพลิง แต่อย่างไรก็ตามการปลูกมะพร้าวโดยทั่วไปก็เพื่อนำเอาเนื้อมะพร้าวไปประกอบอาหารและสกัดเอาน้ำมันเช่นเดียวกับปาล์ม จากการศึกษารายวิชาชีววิทยา เรื่องผลของฮอร์โมนพืชมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชและการสืบค้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตพบว่า ในน้ำมะพร้าว มีฮอร์โมนไซโตไคนิน ซึ่งฮอร์โมนไซโตไคนินเป็นฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการแบ่งเซลล์และช่วยชะลอการแก่ชรา และการส่งเสริมการลำเลียงสารอาหารและสารอินทรีย์ต่าง ๆ   ช่วยลดการสลายตัวของคลอโรฟีลล์ในพืช ผู้วิจัยจึงเกิดความสงสัย ว่าน้ำมะพร้าวประเภทใดที่มีปริมาณฮอร์โมนไซโทไคนินที่ช่วยชะลอการแก่ชราของพืชที่ดีที่สุด ระหว่างน้ำมะพร้าวอ่อน น้ำมะพร้าวขนาดกลางและน้ำมะพร้าวแก่จึงออกแบบและทำการทดลองเปรียบเทียบผลของการใช้น้ำมะพร้าวในแต่ละประเภทในการลดการชะลอการเหี่ยวเฉาของพืชซึ่งในการทดลองนี้ใช้ดอกบานบุรี (Allamanda cathartica L.) ซึ่งเป็นพืชที่หาได้ง่ายในพื้นที่

 

5. วัตถุประสงค์ของการศึกษาค้นคว้า
จุดมุ่งหมายการวิจัย (Research purposes) เป็นการระบุกิจกรรมหรืองานที่ผู้วิจัยต้องทำ ในอันที่จะได้มาซึ่งคำตอบในการวิจัย

ตัวอย่างที่ 2

วัตถุประสงค์ของการศึกษาค้นคว้า
(เรื่อง การศึกษาผลของน้ำมะพร้าวต่อการชะลอการเหี่ยวเฉาของดอกบานบุรี)

     วัตถุประสงค์

  1. เพื่อศึกษาสมบัติทางกายภาพของน้ำมะพร้าวอ่อน น้ำมะพร้าวขนาดกลาง และน้ำมะพร้าวแก่
  2. เพื่อเปรียบเทียบผลของน้ำมะพร้าวอ่อน น้ำมะพร้าวขนาดกลาง และน้ำมะพร้าวแก่ ต่อการยืดอายุของกิ่งดอกบานบุรี

 

6. สมมติฐานของการวิจัย
สมมติฐานคือ การคาดคะเนคำตอบของปัญหาอย่างมีหลักและเหตุผล ตามหลักการ  ทฤษฎี  ส่วนใหญ่การเขียนจะเขียนในรูปของข้อความที่ใช้ภาษาเป็นสื่อ ในการอธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจกันได้ตรงกัน และมักเป็นข้อความที่แสดงความสัมพันธ์ของตัวแปรต้นและตัวแปรตามว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างไร
** การตั้งสมมติฐานมักพบในโครงงานประเภท ทดลอง และสิ่งประดิษฐ์

ตัวอย่างที่ 3
สมมติฐานของการศึกษาค้นคว้า
(เรื่อง การศึกษาผลของน้ำมะพร้าวต่อการชะลอการเหี่ยวเฉาของดอกบานบุรี)

สมมุติฐานของการศึกษาค้นคว้า

  1. น้ำมะพร้าวแต่ละประเภท ได้แก่ น้ำมะพร้าวอ่อน น้ำมะพร้าวขนาดกลาง และน้ำมะพร้าวแก่ จะสามารถชะลอการแก่ชราของกิ่งดอกบานบุรีได้แตกต่างกัน

 

7. ขอบเขตในการทำโครงงาน
ผู้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ต้องให้ความสำคัญต่อการกำหนดขอบเขตการทำโครงงาน เพื่อให้ได้ผลการศึกษาที่น่าเชื่อถือ ซึ่งได้แก่ การกำหนดประชากร กลุ่มตัวอย่าง ตลอดจนตัวแปรที่ศึกษา
               1. การกำหนดประชากร และกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา คือ การกำหนดประชากรที่ศึกษาอาจเป็นคนหรือสัตว์หรือพืช ชื่อใด กลุ่มใด ประเภทใด อยู่ที่ไหน เมื่อเวลาใด รวมทั้งกำหนดกลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดเหมาะสมเป็นตัวแทนของประชากรที่สนใจศึกษา

              2. ตัวแปรที่ศึกษา การศึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์ ส่วนมากมักเป็นการศึกษาความสัมพันธ์เชิงเหตุและผล หรือความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรตั้งแต่ 2 ตัวแปรขึ้นไป การบอกชนิดของ     ตัวแปรอย่างถูกต้องและชัดเจน รวมทั้งการควบคุมตัวแปรที่ไม่สนใจศึกษา เป็นทักษะกระบวนการ   ทางวิทยาศาสตร์ที่ผู้ทำโครงงานต้องเข้าใจ
ตัวแปรใดที่ศึกษาเป็นตัวแปรต้น ตัวแปรใดที่เป็นผลมาจากตัวแปรต้น เรียก ตัวแปรตาม และตัวแปรใดบ้างเป็นตัวแปรที่ต้องควบคุมเพื่อเป็นแนวทางการออกแบบการทดลอง ตลอดจนมีผลต่อการเขียนรายงานการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง สื่อความหมายให้ผู้ฟังและ ผู้อ่านให้เข้าใจตรงกัน  

ตัวอย่างที่  4
ตัวแปรที่ศึกษา
 (เรื่อง การศึกษาผลของน้ำมะพร้าวต่อการชะลอการเหี่ยวเฉาของดอกบานบุรี)

ตัวแปรที่เกี่ยวข้อง
ตัวแปรต้น                      น้ำมะพร้าว
ตัวแปรตาม                    อายุของกิ่งดอกบานบุรีหลังตัดจากต้น
ตัวแปรควบคุม              ปริมาณน้ำ, ขนาดกิ่งของดอกบานบุรี, จำนวนใบ, จำนวนดอก, ความแก่อ่อนของใบ, ความแก่อ่อนของดอก, พื้นที่หน้าตัดของรอยแผลกิ่งดอกบานบุรี, สถานที่และเวลา (เพื่อควบคุมอุณหภูมิและความชื้น)

 

8. วิธีดำเนินงาน   กำหนดอุปกรณ์ พร้อมจำนวนที่ใช้ในการศึกษา   วิธีการดำเนินการต้องทำให้ชัดเจนว่าจะทำอะไรบ้าง เรียงลำดับกิจกรรมก่อนและหลังให้ชัดเจน เพื่อสามารถนำโครงงานไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและถูกต้อง  
9. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
ให้เขียนคาดคะเนเหตุการณ์ว่าเมื่อได้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์สิ้นสุดลงแล้วได้ประโยชน์อะไร ควรเขียนให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์                                                          


ตัวอย่างที่  5
ผลที่คาดว่าจะได้รับ (เรื่อง การศึกษาผลของน้ำมะพร้าวต่อการชะลอการเหี่ยวเฉาของดอกบานบุรี)

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  • ทำให้ทราบถึงลักษะทางกายภาพของน้ำมะพร้าวอ่อนหรือน้ำมะพร้าวขนาดกลางหรือน้ำมะพร้าวแก่
  • ทำให้ทราบว่าน้ำมะพร้าวอ่อน หรือ น้ำมะพร้าวขนาดกลาง หรือ น้ำมะพร้าวแก่ที่สามารถชะลอการเหี่ยวของกิ่งดอกบานบุรีได้ดีที่สุด
 

วัตถุประสงค์

  • เพื่อศึกษาสมบัติทางกายภาพของน้ำมะพร้าวอ่อน น้ำมะพร้าวขนาดกลาง และน้ำมะพร้าวแก่
  • เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของน้ำมะพร้าวอ่อน น้ำมะพร้าวขนาดกลาง และน้ำมะพร้าวแก่ ต่อการยืดอายุของกิ่งดอกบานบุรี
  

10. แผนการกำหนดเวลาการปฏิบัติงาน  นักเรียนต้องกำหนดตารางเวลาดำเนินการทุกขั้นตอน เป็นประโยชน์ให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นประโยชน์ต่อการติดตามประเมินผลการดำเนินงานแต่ละขั้นตอน จนสิ้นสุดการทำโครงงานนั้น  

รูปแบบปฏิทินปฏิบัติงาน


วัน  เดือน  ปี
ระยะเวลา

รายการปฏิบัติงาน

สถานที่

ผู้รับผิดชอบ

หมายเหตุ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

11. เอกสารอ้างอิง(บรรณานุกรม)


         คือ รายชื่อเอกสารที่นำมาอ้างอิงเพื่อประกอบการทำโครงงาน วิทยาศาสตร์ 
เอกสารอ้างอิง (Reference) หมายถึง  เอกสารที่ใช้อ้างอิงในเนื้อหาทุกประเภท รวมถึงวัสดุทุกชิ้น (ตาราง รูปภาพ)ที่แทรกไว้ในรายงาน การเขียนเอกสารอ้างอิง คือ การเขียนบอกแหล่งที่มาของข้อมูลที่มีการอ้างถึงอยู่ในรายงาน เพื่อให้สะดวกต่อการค้นคว้า และให้เกียรติแก่ผู้เขียนเอกสารอ้างอิงนั้น
การเขียนเอกสารอ้างอิงมี 2 ส่วนด้วยกันคือ ส่วนที่เป็นการเขียนอ้างอิงในเนื้อหารายงาน และส่วนที่เป็นการเขียนรวบรวมรายชื่อเอกสารอ้างอิงทั้งหมด ไว้ในท้ายเล่มของรายงาน ซึ่งมีรายละเอียดของแต่ละส่วนที่เป็นการเขียนรวบรวมรายชื่อเอกสารอ้างอิงทั้งหมดไว้ในท้ายเล่มของรายงาน ซึ่งมีรายละเอียดของแต่ละส่วนดังนี้

  1. การเขียนอ้างอิงในเนื้อหา

          1.1 การเขียนอ้างอิงในส่วนเนื้อหาสาระ
                1)   การเขียนโดยอ้างอิงชื่อผู้แต่งก่อนการเขียนเนื้อหา

ผู้แต่งคนเดียว
ชื่อผู้แต่ง(ปี พ.ศ.) + เนื้อหา
ตัวอย่าง  : 
นิยม   สุขสันต์ (2555) ได้ทำการศึกษาเรื่อง ทางเลือกในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรเพื่อลด การใช้ปุ๋ยเคมี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ…………………………………………………………………………………………………………...……………………

ผู้แต่งสองคน
ชื่อผู้แต่งคนแรก และชื่อผู้แต่งคนที่สอง(ปี พ.ศ.) + เนื้อหา
ตัวอย่าง
สายธาร  ภูรินทร์ และเอื้องพร  เบญจรงค์(2554) ได้ทำการศึกษาเรื่อง………………………………………………………

ผู้แต่งสามคนขึ้นไป
ชื่อผู้แต่งคนแรกและคณะ(ปีพ.ศ.) + เนื้อหา
ตัวอย่าง
ศศิธร   โสภาพรรณ และ คณะ(2549) ได้ทำการศึกษาเรื่อง …………………………………………………………………

 

2)   การเขียนอ้างอิงโดยชื่อผู้แต่งไว้ด้านหลังเนื้อหา
ผู้แต่งคนเดียว
เนื้อหา + (ชื่อผู้แต่ง หรือหน่วยงานที่อ้างอิง, ปี พ.ศ.)
ตัวอย่าง
“ปุ๋ยชีวภาพ คือ การนำเอาจุลินทรีย์มาใช้ในการปรับปรุงดินทางชีวภาพกายภาพ เคมี ชีวภาพ และการย่อยสลายอินทรียวัตถุ”(กรมพัฒนาที่ดิน, 2549)

ผู้แต่งสองคน
เนื้อหา + (ชื่อผู้แต่งคนแรก และชื่อผู้แต่งคนที่สอง, ปี พ.ศ.)
ตัวอย่าง
หญ้าแฝกเป็นต้นหญ้าต้นเล็กๆที่จะช่วยแก้ปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดินได้เป็นอย่างดี (กานตวี  บรรเจิดศิลป์ และศิริอร  โกศัลย์วิทย์,2548)

ผู้แต่งสามคนขึ้นไป
เนื้อหา + (ชื่อผู้แต่งคนแรก และคณะ, ปี พ.ศ,)
ตัวอย่าง
อัตราความเร็วลมที่เหมาะสมในการผลิตไก่เนื้อในช่วงสภาวะอุณหภูมิสูง คือช่วง 1.5-2.0 เมตร/วินาที (ธงชัย  อยู่เจริญ และคณะ ,2547)

 

       1.2  การเขียนอ้างอิงในส่วนที่เป็นตาราง
ให้อ้างที่มาใต้ตาราง พร้อมระบุปี พ.ศ. โดย “ ตารางที่ และ ชื่อตาราง” ต้องอยู่ส่วนบนของตารางและซิดขอบด้านซ้ายดังตารางที่ 1
ตัวอย่าง
ตารางที่ 1 แสดงค่า pH ของน้ำในลำห้วยทราย


จุดเก็บตัวอย่าง

ค่า pHของน้ำ

ต้นน้ำ

4

ปลายน้ำ

6

ที่มา: ไพโรจน์  วศิลป์,2548

    1. การเขียนอ้างอิงในส่วนที่เป็นภาพประกอบ ใช้หลักการเดียวกับตารางแต่ “ภาพที่”  ต้องอยู่ใต้ภาพ เหนือที่มา


ภาพที่ 31 ปะการังฟอกขาว
ที่มา: จตุพร  นวลคำ, 2550

 

2.   การเขียนรวบรวมรายชื่อเอกสารที่อ้างอิงทั้งหมดไว้ท้ายเล่มของรายงาน (ก่อนภาคผนวก) การเขียนเอกสารอ้างอิงส่วนนี้จะเขียนเรียงลำดับตัวอักษร เริ่มจากเอกสารภาษาไทยก่อนแล้วตามด้วยเอกสารภาษาอังกฤษ โดยไม่ต้องใส่หมายเลขลำดับ รูปแบบการเขียนเอกสารอ้างอิงมีหลายรูปแบบดังนี้

2.1   เอกสารประเภทวารสาร
 ภาษาไทย
ชื่อ-นามสกุลผู้เขียนบทความ.(ปีที่ตีพิมพ์). ชื่อบทความ.ชื่อวารสาร,ฉบับที่พิมพ์,หน้า.
ตัวอย่าง
โอมนันท์  มณโชติ. (2548). ภาวะโลกร้อน แค่ความเปลี่ยนแปลงหรือภัยใกล้ตัว. สสวท, ปีที่ 33 ฉบับที่ พฤษภาคม –     
มิถุนายน 2548, หน้า 32 – 34.
(สังเกตว่าเวลาขึ้นบรรทัดใหม่ต้องเยื้องไป 4 ตัวอักษร)

ภาษาอังกฤษ
นามสกุล, อักษรย่อชื่อหน้า. อักษรย่อชื่อกลาง (ถ้ามี). (ปีที่ตีพิมพ์). ชื่อบทความ.ชื่อวารสาร, ฉบับที่พิมพ์, หน้า.
ตัวอย่าง
Dale, V.H.(1997). The Relationship between Land-use Change and Climate Change. Ecological Application,p.7,753-769
(ขึ้นบรรทัดใหม่ให้เยื้องไป 4 ตัวอักษร)

2.2 เอกสารประเภทตำรา
ภาษาไทย
ชื่อ-นามสกุลผู้แต่ง. (ปีที่ตีพิมพ์).ชื่อหนังสือ.เมืองที่พิมพ์: สำนักพิมพ์,หน้า.
ตัวอย่าง
กิตติ   ภัคดีวัฒนะกุล. (2546).คัมภีร์ JAVA เล่ม 1. กรุงเทพฯ:เคทีพี คอมพ์ แอนด์ คอนซัลท์,หน้า 35-40.
(ขึ้นบรรทัดใหม่ให้เยื้องไป 4 ตัวอักษร)

ภาษาอังกฤษ
นามสกุล, อักษรย่อชื่อหน้า. อักษรย่อชื่อกลาง(ถ้ามี).(ปีที่ตีพิมพ์). ชื่อหนังสือ.เมืองที่พิมพ์: สำนักพิมพ์, หน้า.
ตัวอย่าง
Jackson, D.L.&L.L. Jackson. (2003). Farm as Natural Habitat : Reconnecting Food Systems with Ecosystems. Washington, D.C.:
Island Press, p. 111 -116.
(ขึ้นบรรทัดใหม่ให้เยื้องไป 4 ตัวอักษร)

2.3   จากเวบไซต์
ภาษาไทย
ชื่อ-นามสกุลผู้แต่ง หรือชื่อหน่วยงาน,อักษรย่อชื่อหน้า.อักษรย่อช่อกลาง(ถ้ามี). ชื่อเรื่อง. เดือนปีที่เข้าถึงข้อมูล, จาก URL.
ตัวอย่าง
กรมชลประทาน. วัฏจักรของน้ำ. ธันวาคม 2549, จาก http://www.rid.go.th/kw_cy1.html.
(ขึ้นบรรทัดใหม่ให้เยื้องไป 4 ตัวอักษร)

ภาษาอังกฤษ
นามสกุล, อักษรย่อชื่อหน้า.อักษรย่อชื่อกลาง(ถ้ามี). ชื่อเรื่อง. เดือนปีที่เข้าถึงข้อมูล, available at URL.
ตัวอย่าง
Allen, P. Engineering of Component-Based Systems. 2002, available at http://www.cutter.com/research/2002edge020305.html.
(ขึ้นบรรทัดใหม่ให้เยื้องไป 4 ตัวอักษร)

12. นำเค้าโครงโครงงานเสนอต่อครูที่ปรึกษาโครงงาน
เมื่อครูที่ปรึกษาโครงงานอนุมัติจึงสามารถดำเนินการในขั้นต่อไปได้ (ดูตัวอย่างเค้าโครงโครงงาน)