การศึกษาเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ

อาณาจักรมอเนอรา

อาณาจักรโพรทิสตา

     :: ลักษณะสำคัญของโพรทิสต์

     :: แบบฝึกที่ 3.1

     :: ความหลากหลายของโพรทิสต์

     :: แบบฝึกที่ 3.2

อาณาจักรพืช

อาณาจักรฟังไจ

สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง

สัตว์มีกระดูกสันหลัง

Download เอกสารเผยแพร่

กลับหน้าหลัก

 

 

 

อาณาจักรโพรทิสตา (Kingdom Protista)

         

           กำเนิดโพรทิสต์ ถ้าเรามองไปรอบ ๆ ตัวเราในทุกหนทุกแห่ง ทั้งบนบก ในน้ำ ในอากาศ บนต้นไม้ บนดิน ในอาคารบ้านเรือน บนร่างกายของสัตว์ รวมถึงบนร่างกายของมนุษย์เอง จะพบมีสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ จำนวนมากมาย ทั้งที่มองเห็นด้วยตาเปล่า หรืออาจจะต้องมองผ่านกล้องจุลทรรศน์ จึงจะมองเห็นรูปร่างที่แท้จริง ในอดีตสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ถูกแบ่งกลุ่มออกเป็น 2 อาณาจักรใหญ่ ๆ คือ อาณาจักรพืชและอาณาจักรสัตว์

          ต่อมาเมื่อมีการศึกษาสิ่งมีชีวิตจำนวนมากขึ้นทำให้เกิดปัญหาการจัดกลุ่มสิ่งมีชีวิตบางกลุ่มที่มีลักษณะร่วมที่คล้ายทั้งพืชและสัตว์อยู่ใน
ตัวเดียวกัน เป็นสาเหตุให้นักพฤกษศาสตร์จัดสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ ไว้ในอาณาจักรพืช และนักสัตววิทยาก็จัดไว้ในอาณาจักรสัตว์ ซึ่งไม่น่าจะเป็นการจัดจำแนกที่ดีนักที่สิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันจะถูกจัดให้อยู่ในทั้งสองอาณาจักร

          ในปี ค.ศ. 1866 Ernst Haeckel นักชีววิทยาชาวเยอรมัน ได้เสนอชื่อเรียกกลุ่มสิ่งมีชีวิตเหล่า นี้ว่า โพรทิสตา (protista) ซึ่งหมายถึง “สิ่งมีชีวิตพวกแรก ๆ” ขึ้นมาใช้ จึงทำให้แยกสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีลักษณะของพืชหรือสัตว์อย่างชัดเจนออกจากอาณาจักรพืชและอาณาจักรสัตว์ แล้วตั้งเป็นอาณาจักรใหม่ ชื่อ "อาณาจักรโพรทิสตา" โดยเรียกสิ่งมีชีวิตในกลุ่มนี้ว่า “โพรทิสต์” ซึ่งสามารถพบสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรโพรทิสตาได้ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นบนบก ในน้ำ บนต้นไม้ บนดิน ในอาคารบ้านเรือน และบนร่างกายของสัตว์ชนิดต่าง ๆ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามีโพรทิสต์อยู่ในโลกนี้ไม่น้อยกว่า 60,000 ชนิด

        ลักษณะสำคัญของโพรทิสต์
        สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรโพรทิสตามีลักษณะสำคัญ ดังนี้
        1. เซลล์แบบยูคาริโอต (eukaryotic cell) สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรโพรทิสตา เป็นสิ่งมีชีวิตกลุ่มแรกที่มีเซลล์แบบยูคาริโอต ซึ่งเป็นเซลล์ที่มีเยื่อห่อหุ้ม DNA ไว้ให้มองเห็นเป็นนิวเคลียส (nucleus) ของเซลล์ได้อย่างชัดเจน รวมทั้งมีออร์แกเนลล์ต่าง ๆ ภายในเซลล์แตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มสิ่งมีชีวิต
เช่น เซลล์สาหร่ายมีผนังเซลล์ (cell wall) และ         คลอโรพลาสต์ (chloroplast) ที่ชัดเจน ในขณะที่เซลล์โพรทิสต์อื่น ๆ เช่น เซลล์ของยูกลีนา ผนังเซลล์มีรูปร่างไม่แน่นอน มีอายสปอตช่วยในการรับแสงเพื่อส่งสัญญาน มีแฟลเจลลัม(flagellum) ช่วยในการเคลื่อนที่มีการเคลื่อนที่ เป็นต้น

        

         2. วงชีพไม่มีระยะเอ็มบริโอ (embryo) สิ่งมีชีวิตอาณาจักรโพรทิสตา ไม่พบเอ็มบริโอปรากฏในวงชีพซึ่งต่างจากพืชและสัตว์ที่มีเอ็มบริโอพัฒนามาจากไซโกต (zygote) ในวงชีพ สำหรับโพรทิสต์เมื่อเซลล์สืบพันธุ์ปฏิสนธิและได้ไซโกตแล้ว ไซโกตจะมีการแบ่งแบบไมโอซิส (meiosis) ได้เซลล์ที่มีโครโมโซม 1 ชุด (n) เจริญเป็นโพรทิสต์ต้นใหม่ต่อไป เช่น Chlamydomonas sp. แต่มีโพรทิสต์บางกลุ่มที่ไซโกตเจริญเป็นต้นใหม่ที่มีโครโมโซม 2 ชุด (2n) อยู่ใน ธรรมชาติ แล้วค่อยแบ่งแบบไมโอซิส เพื่อสร้างเซลล์สืบพันธุ์ที่มีโครโมโซม 1 ชุด (n) ในภายหลัง เช่น Derbesia sp.  เป็นต้น

        

         3. รูปร่าง ประกอบด้วยเซลล์แบบง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน มีหลายรูปแบบ  เช่น เซลล์เดี่ยว (unicellular) พบอาศัยแขวนลอยอยู่ในน้ำหรืออิงอาศัย
บนพืชน้ำ เซลล์รวมกันเป็นกลุ่ม เรียกว่า โคโลนี (colony) เซลล์เรียงต่อกันเป็นสายเซลล์ (filament) แต่ยังไม่ทำหน้าที่ร่วมกัน  มีหลายเซลล์ขนาดใหญ่มีโครงสร้างซับซ้อน แต่เซลล์เหล่านี้ยังไม่พัฒนาไปเป็นเนื้อเยื่อ

         

          4. การเคลื่อนที่ของโพรทิสต์ ส่วนใหญ่เคลื่อนที่ไม่ได้แต่มีบางกลุ่มเคลื่อนที่ได้โดยอาศัย ออร์แกเนลล์พิเศษ ได้แก่
              4.1 การเคลื่อนที่โดยขนเซลล์หรือซีเลีย (Cilia) ซีเลียเป็นส่วนที่ยืดออกไปของเยื่อหุ้มเซลล์มีลักษณะคล้ายขน ลักษณะการเคลื่อนที่ของซีเลียจะพัดโบกเป็นจังหวะพร้อม ๆ กัน ตัวอย่างเช่น ซีเลียที่พบในพารามีเซียม
              4.2 การเคลื่อนที่โดยหนวดหรือแฟลเจลลัม (Flagellum) ซึ่งหนวดมีโครงสร้างแบบเดียวกับซีเลีย แต่มีขนาดยาวกว่าคือ ตั้งแต่ 150 ไมครอนหรือมากกว่า พบในสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว การโบกพัดของหนวด ทำให้เซลล์เคลื่อนที่ไปข้างหน้าหรือหมุน ตัวอย่างเช่น แฟลเจลลัมใน ไดโนแฟลกเจลลา และ ยูกลีนา
              4.3 การเคลื่อนที่โดยเท้าเทียมหรือซูโดโปเดียม (Pseudopodium) โดยใช้การเคลื่อนไหลของโพรโทพลาสต์ (protoplast) ภายในเซลล์ ทำให้เกิดลักษณะคล้ายขาเทียม เช่น ขาเทียมในอะมีบา

 

         รูปแบบการดำรงชีวิตของโพรทิสต์
         สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรโพรทิสตา ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในน้ำหรือในบริเวณที่ชื้นแฉะ เป็นกลุ่มที่มีบทบาทต่อห่วงโซ่อาหารมาก แบ่งออก
ได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

          1. ผู้ผลิต (producer) ได้แก่ โพรทิสต์ที่มีออร์แกเนลล์ที่เรียกว่าพลาสติด สามารถสังเคราะห์ด้วยแสงได้จึงผลิตอาหารหรือเปลี่ยนพลังงานจากแสงอาทิตย์มาไว้ในรูปของพลังงานเคมีเพื่อถ่ายทอดไปยังสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เช่น สาหร่ายต่าง ๆ

          2. ผู้บริโภค (consumer) ได้แก่ โพรทิสต์ที่กินผู้ผลิตเพื่อให้ได้พลังงาน ไม่สามารถสร้างอาหารเองได้ เป็นกลุ่มโพรทิสต์ที่ไม่มีพลาสติดหรือพลาสติดไม่สามารถทำงานได้ เช่น กลุ่มไดโพรโมแนด สกุล Giardia สกุล Trichomonas และกลุ่มอะมีบา  เป็นต้น

          3. ผู้สลายสารอินทรีย์ (decomposer) เป็นโพรทิสต์ที่ได้พลังงานโดยการย่อยสลายซากอินทรีย์ต่าง ๆ เช่น กลุ่มราเมือก

ก.
ข.
ค.

ภาพที่ 1  แสดงตัวอย่างโพรทิสต์ที่มีการการดำรงชีวิตในรูปแบบต่างๆ(ก) โพรทิสต์ที่เป็นผู้ผลิต Acetabularia  (ข) โพรทิสต์ที่เป็นผู้บริโภค Giardia intestinalis (ค) โพรติสท์ที่เป็นผู้ย่อยสลายอินทรียสารในกลุ่มราเมือก Physarum polycephalum
(ก) (ที่มา: http://web.ku.edu/~ifaa/jpg/Inouye/Inouye_01.html)
(ข) (ที่มา: http://www.thaigoodview.com/node/46207)
(ค) (ที่มา: http:// uwstudentweb.uwyo.edu/N/NROISING/SlimeMoldimages.htm)

 

         การสืบพันธุ์ของโพรทิสต์
          1. การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ (asexual reproduction) สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรโพรทิสตา สามารถสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศโดยการแบ่งเซลล์แบบไมโทซิส (mitosis) เพื่อให้กำเนิดเซลล์ใหม่ โดยเซลล์ที่เกิดขึ้นนี้มีสารพันธุกรรมเหมือนเดิมทุกประการ เรียกเซลล์ใหม่ที่ได้ว่าซูโอสปอร์ (zoospore) มักพบในกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่เป็นแบบเซลล์เดียว
         

          2. การสืบพันธุ์แบบอาศัย (sexual reproduction) โดยทั่วไปเซลล์ของโพรติสต์จะสร้างเซลล์สืบพันธุ์ขึ้นมาจากเซลล์ที่เป็นเซลล์เวจเกตเททีฟ (vegetative cell) หรือเซลล์ที่เติบโตเต็มที่ (mature cell) โดยการเปลี่ยนแปลงตัวเซลล์เอง ในกรณีที่มีโครโมโซมเพียง 1 ชุด หรือผ่านกระบวนการแบ่งเซลล์แบบไมโอซิส (meiosis) ในกรณีที่มีโครโมโซม 2 ชุด เพื่อให้ได้เซลล์สืบพันธุ์ที่มีจำนวนโครโมโซมเพียง 1 ชุด เมื่อเซลล์สืบพันธุ์ที่ต่างแบบกันแต่อาจจะมีรูปร่างและขนาดเหมือนกันหรือต่างกันมารวมกัน จะได้เซลล์ที่มีโครโมโซมจำนวน 2 ชุด เรียกว่า ไซโกสปอร์ (zygospore) ซึ่งอาจจะเจริญเป็นเซลล์ใหม่ หรืออาจจะแบ่งเซลล์แบบไมโอซิส ได้  ซูโอสปอร์ที่มีโครโมโซม 1 ชุด จำนวน 4 สปอร์ เจริญเป็นโพรทิสต์ต้นใหม่ต่อไป

 

          3. การสืบพันธุ์แบบคอนจูเกชัน (conjugation) เป็นการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศอีกวิธีหนึ่ง เกิดในโพรทิสต์ที่มีเซลล์สืบพันธุ์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้ อาจมีรูปร่างและขนาดเหมือนกันแต่มีพันธุกรรมแตกต่างกัน สร้างหลอดมาเชื่อมติดกันแล้วถ่ายทอด โพรโทพลาสต์จากเซลล์หนึ่งไปยังอีกเซลล์หนึ่งผ่านหลอดที่ต่อระหว่างเซลล์ (conjugation tube) ภายหลังจากการรวมกันของโพรโทพลาสต์ทั้งสอง และเกิดการปฏิสนธิได้ไซโกต (zygote) ที่มีโครโมโซม 2 ชุดแล้ว
ไซโกตจะเกิดการแบ่งเซลล์แบบไมโอซิส ได้เป็นสปอร์ที่มีโครโมโซม 1 ชุด แล้วแต่ละสปอร์จะเจริญต่อไปเป็นสาหร่ายต้นใหม่ เช่น ที่พบในโพรทิสต์สกุลสไปโรไจรา

 

 

   

รวบรวมเรียบเรียงโดย ครูนันทนา สำเภา โรงเรียนปทุมราชวงศา
อำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ