การศึกษาเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ

อาณาจักรมอเนอรา

อาณาจักรโพรทิสตา

อาณาจักรพืช

อาณาจักรฟังไจ

อาณาจักรสัตว์

    :: ความหลากหลายของสัตว์

    :: สัตว์ที่ไม่มีเนื้อเยื่อที่แท้จริง

    :: สัตว์ที่มีเนื้อเยื่อ

           ไฟลัมไนดาเรีย

           ไฟลัมแพลทีเฮลมินทิส

           ไฟลัมมอลลัสคา

           ไฟลัมแอนเนลิดา

           ไฟลัมนีมาโทดา

          ไฟลัมอาร์โทรโพดา

          ไฟลัมเอไคโนเดอร์มาตา

           ไฟลัมคอร์ดาตา

    :: แบบฝึกที่ 6.1

    :: แบบฝึกที่ 6.2

สัตว์มีกระดูกสันหลัง

Download เอกสารเผยแพร่

กลับหน้าหลัก

----------------------๐๐๐--------------------
๐ พันธมิตร ๐

HSK

MUIC

MSU EPT

 

 

  ไฟลัมอาร์โทรโพดา (Phylum Arthropoda)

             สัตว์ในไฟลัมอาร์โทรโพดา เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่มีความหลากหลายทางด้านชนิดมากที่สุด ที่ค้นพบแล้วมีมากกว่าหนึ่งล้านชนิดซึ่งส่วนใหญ่เป็นแมลง พวกอาร์โทรพอด (arthropods) มีลำตัวเป็นปล้องแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือส่วนหัว (head) อก (thorax) และท้อง (abdomen)

ภาพที่ 14 โครงสร้างต่างๆของแมลง
(ที่มา : http://www.sysp.ac.th/files/1403271111004763_14042614140852.pdf)

          มีรยางค์ที่เป็นข้อปล้องต่อกันทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น ใช้เดิน จับอาหาร รับความรู้สึก ผสมพันธุ์ หรือป้องกันอันตราย ลำตัวและรยางค์มีโครงร่างภายนอกซึ่งเป็นเปลือกแข็งที่ประกอบด้วยไคทินหุ้มอยู่ ในการเจริญเติบโตจึงมีการลอกคราบจากระยะตัวอ่อนจนเป็นตัวเต็มวัย อาร์โทรพอดมีระบบหมุนเวียนเลือดแบบเปิด และมีทางเดินอาหารแบบสมบูรณ์ มีระบบประสาทซึ่งประกอบด้วยปมประสาทและเส้นประสาท ส่วนใหญ่แยกเพศและสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ สัตว์ในไฟลัมอาร์โทรโพดาที่สำคัญๆได้แก่

          1.คลาสเมอโรสโตมาตา (Class  Merostomata)
          2.คลาสอะแรคนิดา (Class Arachinida)
          3.คลาสไดโพลโพดา (Class Diplopoda)
          4.คลาสชิโลโพดา (Class Chilopoda)
          5.คลาสอินเซ็คตา (Class Insecta)
         6.คลาสครัสเทเซีย (Class Crustacea)

 

          สัตว์ในคลาสเมอโรสโตมาตา (Class Merostomata) ได้แก่ แมงดาทะเล ซึ่งเป็นสัตว์โบราณเชื่อว่าบรรพบุรุษเริ่มตั้งแต่ยุคออร์โดวิเชียน ปัจจุบันเหลือ 3 จีนัส 4 สปีชีส์เท่านั้น โครงสร้างแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนหัวส่วนอกจะรวมกันที่เรียกว่า เซฟาโลทอแรกซ์ (cephalothorax)  และ ส่วนท้องมีรยางค์คู่แรก(ช่วยในการกินอาหาร)ไม่มีหนวด มีขาเดินมีรยางค์ 5 คู่ ปลายขาคู่สุดท้ายมีลักษณะเป็นแผ่นซ้อนกันใช้ขุดทรายเวลาฝังตัว แมงดาในประเทศไทยพบ 2 สปีชีส์ คือ แมงดาทะเลหางเหลี่ยมหรือแมงดาจาน และ แมงดาทะเลหางกลมหรือแมงดาถ้วย หรือ เหรา(อ่านว่า เห-รา) ปัจจุบันจำนวนแมงดาลดลงเนื่องจากมีการนำไข่แมงดามาบริโภค แต่ไข่แมงดาหางกลมมีสารพิษในกลุ่ม เทโทรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) เมื่อรับประทานจะทำให้เกิดอาการท้องร่วง คลื่นไส้ อาเจียน ชาที่ปากและลิ้น ใบหน้าแขนและขา จนกระทั่งกล้ามเนื้ออัมพาตหมดสติไป หากได้รับปริมาณมากอาจทำให้ระบบทางเดินหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้

 

          สัตว์ในคลาสอะแรคนิดา (Class Arachnida) พวกนี้ส่วนหัวกับส่วนอกรวมกัน ไม่มีหนวด มีรยางค์ 6 คู่ โดยคู่ที่ 1 ใช้จับอาหารและรับความรู้สึก มีขาเดินอีก 4 คู่ เช่น แมงมุม ,แมงป่อง ,เห็บ บึ้ง , หิด และไร เป็นต้นแมงมุมบริเวณส่วนท้ายของท้องมีต่อมสร้างเส้นใยและอวัยวะที่ใช้ชักใยแมงป่องปล้องสุดท้ายจะปรับเปลี่ยนไปเป็นอวัยวะสำหรับต่อยเหยื่อ และมีต่อมสร้างสารพิษเพื่อใช้ต่อยเหยื่อและป้องกันตัว

ภาพที่ 15 เห็บสุนัข
(ที่มา: http://talk.mthai.com/uploads/2013/05/02/113328-attachment.jpg)

 

          บทบาทของคลาสอะแรคนิดา แมงมุมเป็นตัวห้ำ ที่ช่วยกำจัดแมลงที่เป็นศัตรูพืชหลายชนิด รวมทั้งพวกเห็บไร แมงป่องส่วนใหญ่จะกินแมงมุมเป็นอาหารแมงป่องบางชนิดมีพิษร้ายแรง

 

คำศัพท์เกี่ยวกับแมลง
(ตัวห้ำ ,ตัวเบียน, เชื้อโรค)

ตัวห้ำ(Predator) หมายถึงแมลงที่กินแมลงอื่นเป็นอาหาร สามารถทำลายเหยื่อได้ทุก 
ระยะในวัฎจักรชีวิต เช่น ตั๊กแตนรำข้าว มวนเพชฌฆาต เป็นต้น

ตัวเบี้ยน (Parasite) หมายถึง แมลงที่เบียดเบี้ยนเหยื่อ หรือเกาะกินเหยื่อจนกระทั่ง
เหยื่อตาย และการเป็นตัวเบียนนั้นจะเป็นเฉพาะช่วงที่เป็นตัวอ่อนเท่านั้น เช่น แตนเบียนไข่
หนอนกระทู้ผัก

เชื้อโรค  (insect pathogens) หมายถึงเชื้อโรคชนิดต่างๆ เช่น เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย
และเชื้อไวรัสซึ่งเป็นสาเหตุทำให้แมลงตายได้

 

          สัตว์ในคลาสไดโพลโพดา (Class Diplopoda) ได้แก่พวกกิ้งกือต่างๆ พวกนี้ลำตัวยาวแบ่งออกเป็นปล้องๆและมีขาจำนวนมาก โดยมีขาปล้องละ 2 คู่ และมีหนวด 1 คู่ อาศัยอยู่ตามพื้นดินใต้กองใบไม้ กินใบไม้และซากสัตว์ที่เน่าเปื่อยในดินเป็นอาหาร มูลของสัตว์พวกนี้จะเป็นสารอินทรีย์ในดิน เชื่อว่าน่าจะเป็นสัตว์พวกแรกที่เริ่มวิวัฒนาการดำรงชีวิตบนพื้นดิน สัตว์ในคลาสนี้ เช่น กิ้งกือ ตะเข็บ เป็นต้น

          สัตว์ในคลาสชิโลโพดา (Class Chilopoda) ได้แก่พวกตะขาบต่างๆ มีหนวด 1 คู่ และมีขาเดินปล้องละ 1 คู่ ลำตัวปล้องแรกมีเขี้ยวพิษ 1 คู่ แนบกับส่วนหัวใช้สำหรับจับเหยื่อหรือป้องกันตัว โดยจะปล่อยสารพิษทำให้เหยื่อเป็นอัมพาต จึงจับกินได้ง่ายหรือใช้ป้องกันตัวเอง สัตว์ในคลาสนี้ เช่น ตะขาบ เป็นต้น

          สัตว์ในคลาสอินเซ็คตา (Class Insecta) ได้แก่ แมลงชนิดต่างๆ ซึ่งจัดเป็นสัตว์ที่มีจำนวนชนิดมากที่สุด พวกแมลงมีลำตัวแบ่งเป็น 3 ส่วนชัดเจน คือส่วนหัว ส่วนอก ส่วนท้อง  มีหนวด 1 คู่ และมีขาเดิน 3 คู่ที่บริเวณอก บางชนิดมีปีก 1-2 คู่  

          สัตว์ในคลาสครัสตาเซีย (Class Crustacea) ได้แก่ พวกกุ้ง, กั้ง, ปู , เหาไม้(wood lice)  ,เพรียงหิน  เป็นสัตว์ในไฟลัมอาร์โทรโพดากลุ่มเดียวที่มีหนวด 2 คู่ มีขาเดิน 5 คู่ และมักมีรยางค์ที่ส่วนท้องสำหรับว่ายน้ำหรือปรับเปลี่ยนไปเพื่อทำหน้าที่เฉพาะ เช่น แลกเปลี่ยนแก๊ส หรือเป็นที่เกาะของไข่ เป็นต้น ร่างกายแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เซฟาโลทอแรกซ์ และส่วนท้อง  โดยเซฟาโลทอแรกซ์ เป็นส่วนที่รวมส่วนหัวและส่วนอกเข้าไว้ด้วยกัน โดยมีเปลือกแข็งชิ้นเดียวคลุมอยู่เรียก คาราเพช (carapace) สัตว์ในกลุ่มนี้เป็นสัตว์ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่มนุษย์นำมาเป็นอาหารมากที่สุด

 

 

          

   

รวบรวมเรียบเรียงโดย ครูนันทนา สำเภา โรงเรียนปทุมราชวงศา
อำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ